การปักชำ คือ การตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช เช่น ใบ กิ่ง ลำต้น ราก ออกจากต้นเดิมไปเก็บไว้ในที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้ส่วนต่างๆดังกล่าวของพืชงอกรากและแตกยอดเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไปได้
1. ประเภทของการปักชำ มีหลายวิธี ได้แก่
“การปักชำ” หมายถึง การนำรากของพืชมาตัดเป็นส่วนๆ ให้ยาวประมาณ 2-4 นิ้ว แล้วนำไปปักชำลงในวัสดุปักชำเพื่อให้ส่วนของรากงอกและแตกยอดอ่อนเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ พืชที่สามารถขยายพันธุ์โดยการปักชำราก เช่น สาเก เข็ม ขนุน มะไฟ มันเทศ โมก
“การปักชำใบ” หมายถึง การนำเอาแผ่นใบหรือใบที่มีก้านใบติดมาปักชำลงในวัสดุปักชำ เพื่อให้ส่วนของใบนี้ออกราก แตกยอดอ่อนเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่
“การปักชำกิ่งหรือลำต้น” หมายถึง การนำเอาส่วนของกิ่งหรือลำต้นพืชมาตัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ นำไปปักในวัสดุปักชำ
การปักชำแบบนี้แบ่งตามลักษณะเนื้อไม้ ได้แก่
การปักชำกิ่งแก่หรือกิ่งที่มีอายุมาก พืชที่นิยมปักชำ ได้แก่ เฟื่องฟ้า กุหลาบ ชบา พู่ระหง
การปักชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ พืชที่นิยมปักชำ ได้แก่ ฝรั่ง ชมพู่ ลำไย
การปักชำกิ่งอ่อนหรือยอดอ่อน การปักชำลักษณะนี้ต้องใช้กิ่งมีใบติดมาด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสง เพราะกิ่งไม่มีอาหารสะสมเพื่อนำมาสร้างรากและยอด พืชที่นิยมปักชำวิธีนี้ เช่น แก้ว กุหลาบ โกสน ดาวเรือง เบญจมาศ พุด ไทร
2. วิธีการปักชำ มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1. เลือกลักษณะของกิ่งที่จะปักชำแล้วตัดกิ่งโดยลักษณะการตัดกิ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของเนื้อไม้ ดังนี้ ถ้าเป็นกิ่งแก่ควรตัดให้มีความยาว ป 6-10″ ตัดให้เป็นแผลทำมุมเฉียง 45 ํ-60 ํ ด้านล่างของกิ่งต่ำกว่าข้อ เล็กน้อย แล้วด้านปลายของกิ่งเหนือกว่าข้อเล็กน้อย ป 1-2 ซม. ถ้าเป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนให้ตัดในลักษณะเดียวกัน แต่ให้มีใบติดอยู่ทางด้านปลายของกิ่งเล็กน้อย ถ้าเป็นกิ่งอ่อนให้ตัดกิ่งยาวประมาณ 6-8″ ตัดใบออก ป 1 ใน 3 ของกิ่ง
การเลือกและริดใบของกิ่งชำ
2. นำส่วนโคนของกิ่งปักลงในวัสดุปักชำ ให้ลึกประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวของกิ่ง โดยให้รอยแผลตัดด้านปลายของกิ่งเป็นแนวตั้งตรง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังบริเวณรอยแผลซึ่งจะช่วยลดการเน่าของกิ่ง ถ้าทำการปักชำกิ่งครั้งละเป็นจำนวนมากควรจัดระยะกิ่งที่ปักให้ห่างกันพอประมาณ ถ้าปักกิ่งชิดกันเกินไปจะทำให้กิ่งเน่าเสียได้
นำกิ่งไปปักชำในวัตถุที่เตรียมไว้
3. รดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 2-3 ครั้ง แต่อย่าให้วัสดุปักชำมีน้ำท่วมขังหรือแฉะจนเกินไป และให้กิ่งปักชำได้รับแสงแดดรำไร เมื่อกิ่งปักชำออกรากสมบูรณ์และแข็งแรงดีแล้ว จึงย้ายออกจากแปลงปักชำไปเก็บไว้ในที่ร่มๆ ประมาณ 3-5 วัน จึงปลูกลงแปลงหรือกระถาง
ปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากดี
ทั้งสภาพภายในกิ่งและสภาพแวดล้อมภายนอก มีส่วนอยู่มากที่จะทำให้กิ่งเกิดรากดีหรือไม่ดีซึ่งในการตัดชำผู้ปฏิบัติจะต้องคัดเลือกทั้งสภาพภายในกิ่งและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเกิดราก และการเกิดยอด จึงจะทำให้การตัดชำนั้นได้ผลดีสภาพดังกล่าว ได้แก่
ก. สภาพภายในกิ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีอยู่ในกิ่งตัดชำนั้นเอง ได้แก่สภาพดังต่อไปนี้
๑. การเลือกกิ่ง ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
๑.๑ เลือกกิ่งที่มีอาหารมาก เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่งสำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบอาหารจะสะสมอยู่ภายในกิ่ง ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน ๑ ปี) อาหารยิ่งสะสมอยู่ภายในกิ่งมาก ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน รวมทั้งการตัดชำพืชพวกไม้เนื้ออ่อน อาหารจะมีอยู่ที่ใบบนกิ่ง ถ้ากิ่งยิ่งมีใบมาก ก็แสดงว่าอาหารภายในกิ่งยิ่งมีมาก การเกิดรากและ แตกยอดก็ง่ายขึ้น
๑.๒ อายุของต้นพืชที่จะนำมาตัดชำควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด) เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากๆ
๑.๓ เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบการใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ควรเลือกบริเวณที่เป็นโคนกิ่ง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบควรเลือกบริเวณปลายกิ่งหรือส่วนยอดของกิ่งควรเลือกตัดโคนกิ่งให้รอยตัดอยู่บริเวณที่เป็นข้อหรือใต้ข้อเล็กน้อย เพราะที่ข้อมีอาหารมากกว่าบริเวณที่เป็นปล้อง ซึ่งจะทำให้การออกรากเกิดมากขึ้น ควรเลือกใช้กิ่งที่เป็นกิ่งใบ (vegetative shoots) คือกิ่งที่อยู่ในระยะการเจริญ ซึ่งจะช่วยให้เกิดรากง่ายกว่าใช้กิ่งดอกหรือกิ่งที่อยู่ในระยะการออกดอกและติดผล
๑.๔ การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ คือ เป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการตัดชำฃกิ่งอ่อนนั้น อาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญ นั้นมีความแข็ง (firmness) พอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สำหรับการตัดชำไม้ผลหรือไม้ประดับบางชนิดที่ออกรากค่อนข้างยากการใช้กิ่งที่แข็ง กลม และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อยจะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อน
๒. การปฏิบัติบางอย่างต่อกิ่งตัดชำ
๒.๑ การเลือกกิ่งที่มีตาและใบ ถ้าเป็นกิ่งแก่ควรเลือกกิ่งที่มีตา เพราะจะช่วยให้ออกรากได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตานั้นอยู่ในระยะเริ่มเจริญส่วนการตัดชำแบบกิ่งอ่อนหรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนใบบนกิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเกิดราก เพาะใบช่วยสร้างอาหารและฮอร์โมนช่วยการออกรากให้แก่กิ่งตัดชำ
๒.๒ การจัดวางกิ่งตัดชำให้ถูกต้องตามหัวท้ายของกิ่งในการตัดชำต้น รากจะออกที่โคนกิ่งและแตกยอดที่ปลายกิ่ง ส่วนการตัดชำรากก็จะเกิดรากที่ปลายท่อนราก และจะเกิดยอดที่โคนท่อนรากฉะนั้นในการวางกิ่งตัดชำ ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งหรือต้นจึงต้องเอาโคนกิ่งปักลงในวัตถุปักชำ ส่วนการตัดชำรากจะเอาโคนท่อนรากโผล่ขึ้นและเอาปลายท่อนรากปักลงการปักกิ่งกลับทิศทางจะไม่ทำให้ตำแหน่งของการเกิดรากและแตกยอดต้องเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่จะทำให้กิ่งไม่เกิดรากและเกิดยอด
๒.๓ การทำแผลโคนกิ่ง แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับพืชที่เกิดรากเฉพาะที่แผลรอยตัดแห่งเดียว นอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย
๒.๔ การใช้ฮอร์โมนและสารบางอย่างช่วยการออกรากเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น คือช่วยให้เกิดรากมากออกรากไวและรากเจริญได้เร็วขึ้น สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่างๆ นั้นมักจะมีสารฮอร์โมนอยู่สองชนิด คือ ไอบี เอ (IBA) หรือชื่อเต็ม คือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และ เอ็นเอเอ (NAA) หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีนอะซีติก (naphthaleneaceticacid) สารฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่เสื่อมช้าคือไม่สูญเสียง่าย แต่ในการใช้มีข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การใช้ฮอร์โมนกับพืชใดควรจะรู้ความเข้มข้นที่แน่นอนและให้พอเหมาะกับพืชนั้นๆ เพราะการใช้ฮอร์โมนที่อ่อนไปจะไม่ได้ผลเลย (เหมือนจุ่มน้ำ)ส่วนการใช้ฮอร์โมนที่แรงเกินไปจะเป็นการทำลายกิ่งคือ โคนกิ่งจะไหม้ดำ (เหมือนจุ่มกิ่งในน้ำกรด)
นอกจากจะมีการใช้ฮอร์โมนทำให้กิ่งพืชออกรากแล้วยังมีการใช้สารอื่นๆ รวมทั้งแร่ธาตุบางอย่างในการตัดชำพืชบางชนิดอีกด้วย เช่น มีการใช้วิตามิน บี ๑ (B1) ช่วยการเจริญของปลายรากและการใช้โบรอน (boron) ใส่ลงในวัตถุปักชำจะช่วยให้กิ่งตัดชำของพืชบางชนิดออกรากดีขึ้น
ข. การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก
๑. การจัดความชื้นในอากาศรอบๆ กิ่งตัดชำความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับการตัดชำกิ่งพืชที่มีใบซึ่งได้แก่ การตัดชำแบบใช้กิ่งอ่อน กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน การตัดชำไม้เนื้ออ่อนรวมทั้งการตัดชำใบด้วย โดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สดและติดอยู่กับกิ่งตลอดไปแต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบๆ ใบสูงพอน้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมาและใบก็จะไม่เหี่ยว ด้วยเหตุนี้การตัดชำกิ่งมีใบจึงต้องรักษาความชื้นของอากาศรอบๆ ใบ ให้สูงอยู่ตลอดเวลาซึ่งเราอาจทำได้โดยคอยรดน้ำที่พื้นที่ข้างๆ กระบะปักชำเสมอๆ หรือคอยพรมน้ำกิ่งตัดชำบ่อยๆ ฉีดหรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลาหรือเป็นระยะ ซึ่งวิธีการหลังนี้อาจใช้คนช่วยฉีดพ่น หรือโดยการใช้เครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติ (autometic mist) ก็ได้
๒. อุณหภูมิกับการออกรากของกิ่งตัดชำโดยปกติ อุณหภูมิที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากได้ดีจะอยู่ระหว่าง ๗๐ องศา – ๘๐ องศา ฟ. สำหรับบ้านเราอุณหภูมิที่จำเป็นในการการออกรากในพืชทั่วๆ ไปจะไม่ค่อยเป็นปัญหา เช่น กุหลาบ สามารถออกรากได้ดีไม่ว่าปักชำในฤดูหนาว ฤดูฝนหรือฤดูร้อนก็ตามเว้นแต่ในพืชบางชนิดที่เจริญได้ดีในฤดูร้อน เช่น ในมะลิจะออกรากได้ดีในฤดูร้อนหรือฤดูฝน แต่จะไม่ค่อยออกรากหรือออกรากยากเมื่อปักชำในฤดูหนาว
๓. แสงสว่างกับการออกรากแสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่งพืชที่ต้องมีใบติดและการตัดชำใบ เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหารรวมทั้งสร้างสารฮอร์โมนเพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ ฉะนั้นในกิ่งตัดชำที่มีใบและเป็นพืชชอบแดด การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไรก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้นเท่านั้น ส่วนพืชที่ไม่ทนแสง (แสงแดด) เช่น พืชที่ใช้ประดับในอาคาร (house plants) การพรางแสงให้กับกิ่งโดยให้เหลือแสงเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างน้อยที่สุด ๑๕๐-๒๐๐ แรงเทียน จะช่วยให้กิ่งเหล่านี้ออกรากได้ดี
ส่วนการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบรวมทั้งการตัดชำราก ซึ่งจะออกรากได้ดีในที่มืด แต่จะต้องการแสงเพิ่มขึ้นเมื่อกิ่งเกิดยอด ในทางปฏิบัติจึงควรปักชำกิ่งแก่และปักชำรากไว้ในที่ที่มีแสงราว ๓๐ เปอร์เซ็นต์
๔. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำการออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้น (moisture) และอากาศ (areation) ที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้นและมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วยวัตถุที่จะช่วยให้การออกรากเกิดได้ดีจะต้องดูดความชื้นได้มากและมีอากาศผ่านได้สะดวก และโดยที่พืชแต่ละชนิดต้องการอากาศมากน้อยต่างกัน ฉะนั้นการที่จะใช้วัตถุใดเหมาะกับพืชใดจึงต้องศึกษาและทดลองในแต่ละพืชไป สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไป ได้แก่ ทรายหยาบ ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน
การตอนกิ่ง
การตอนกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ใช้กันมานานและเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวสวนทั่วๆไป วิธีการตอนกิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นวิธีการที่ได้นำมาจากประเทศจีนแต่ได้ดัดแปลงไปบ้างเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติในยุโรปและอเมริกาก็มีวิธีขยายพันธุ์พืชด้วยการตอนกิ่งเช่นเดียวกัน แต่วิธีการในการตอนกิ่งผิดไปจากวิธีที่รู้จักกันดีในบ้านเราและเรามักเรียกวิธีการตอนกิ่งแบบยุโรปว่า “การตอนทับกิ่ง” ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือการตอนกิ่งแบบตอนหุ้มกิ่ง ซึ่งมีวิธีการตอนหุ้มกิ่งหลายแบบไม่ว่าจะเป็นการตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือการตอนทับกิ่งแบบชาวยุโรป โดยหลักการในการตอนต้นพืชแล้วก็คือ การทำให้ต้นหรือกิ่งพืชออกรากขณะที่ยังติดอยู่กับต้นแม่ หลังจากต้นหรือกิ่งพืชออกรากดีแล้วจึงตัดไปปลูกภายหลัง ฉะนั้นโอกาสของการที่กิ่งพืชจะมีชีวิตอยู่รอด จึงดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการตัดชำแต่ก็มีข้อเสียอยู่ที่ว่าขยายได้ช้ากว่าด้วยเหตุนี้ถ้าต้องการต้นพืชจำนวนมากๆ แล้วมักจะไม่ใช้การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง เว้นแต่ต้นพืชนั้นจะขยายพันธุ์ไม่ได้ด้วยการตัดชำ หรือออกรากยากกว่าการตอนกิ่งเท่านั้น การตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นวิธีที่ใช้ในการตอนกิ่งพืชพวกไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งพืชพวกไม้ผลและไม้ประดับ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ กระท้อน กุหลาบ มะลิ ดอนย่า เป็นต้น ส่วนวิธีการตอนนั้นปฏิบัติเป็นขั้นๆ ดังนี้
ก. การเลือกกิ่ง กิ่งหรือต้นพืชที่จะตอนจะต้องเป็นกิ่งไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ใบงาม ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย ได้รับแสงแดดสม่ำเสมอโดยปกติมักจะเลือกกิ่งกระโดง ซึ่งอาจจะเป็นกิ่งกระโดงตั้ง ๑ หรือกระโดงครีบ ๒ ก็ได้
การเลือกกิ่งตอน
ข. การทำแผลบนกิ่ง การทำแผลบนกิ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และความยากง่ายในการงอกราก ซึ่งบางพืชอาจไม่ต้องทำแผลเลยก็สามารถออกรากได้ ส่วนใหญ่มักเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ต้นสาวน้อยประแป้ง พลูด่าง และพลูฉีก พืชบางชนิดอาจใช้วิธีกรีดเปลือกตามยาวของกิ่ง เช่น กุหลาบ ยี่โถ หรือพืชบางชนิดอาจปาดท้องกิ่ง เช่น ต้นชวนชม แต่มีบางชนิดที่ต้องควั่นกิ่งโดยเฉพาะพืชที่ออกรากยากมีความจำเป็นที่จะต้องทำแผลโดยการควั่นกิ่ง เพราะการควั่นนอกจากจะทำให้เกิดบริเวณออกรากแล้ว ยังมีผลเกี่ยวกับการสะสมธาตุอาหารรวมทั้งสารฮอร์โมน ให้เกิดขึ้นภายในกิ่งซึ่งจะมีผลดีในการออกรากด้วย ดังนั้นเพื่อความแน่นอนในเรื่องการออกราก ชาวสวนทั่วไปจึงใช้วิธีการทำแผลด้วยการควั่นกิ่งแทบทั้งสิ้น
การทำแผลบนกิ่ง
ค. การทาฮอร์โมน การใช้ฮอร์โมนเร่งรากทาบริเวณที่ทำแผล หรือบริเวณที่กิ่งจะเกิดราก จะช่วยให้กิ่งพืชเกิดรากดีขึ้น คือ มีรากมากขึ้น รากเจริญเร็วขึ้น และอาจออกรากเร็วขึ้น การทาฮอร์โมนปกติจะทาเฉพาะบริเวณที่จะเกิดรากเท่านั้น เช่น บริเวณที่เป็นรอยกรีด หรือรอยปาด หรือรอยควั่นตอนบนเท่านั้น และการที่จะใช้ฮอร์โมนตอนต้นพืชฃชนิดใดนั้น ควรจะได้ศึกษาหรือทดลองมาก่อนเพราะต้นพืชแต่ละชนิดออกรากยากง่ายต่างกัน โดยปกติต้นพืชที่ออกรากไม่ยาก อาจใช้ฮอร์โมนชนิดอ่อนหรือที่มีความเข้มข้นน้อยๆ ก็เพียงพอ ส่วนต้นพืชที่ออกรากยากๆ จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนแรงๆ หรือที่เข้มข้นมากๆ ตามลำดับ การใช้ฮอร์โมนที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวนี้ นอกจากจะไม่ได้ผลดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายกิ่งพืชที่ตอน และทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การทาฮอร์โมน
ง. การหุ้มกิ่งตอน วัตถุที่จะใช้หุ้มกิ่งตอนอาจใช้วัตถุต่างๆ ได้หลายอย่าง ข้อสำคัญก็คือวัตถุนั้นๆ ต้องอมความชื้นได้พอ ไม่เป็นพิษกับกิ่งพืช มีราคาถูก และหาได้ง่าย เช่น หญ้ามอสส์ (sphagnum moss) กาบมะพร้าวชุบน้ำ ปุยมะพร้าวผ้ากระสอบป่าน หรือรากผักตบชวาแม้กระทั่งดินธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปใช้ก็ได้ แต่วัตถุที่นิยมใช้จะต้องสะดวกต่อการหุ้ม เช่น ใช้กาบมะพร้าวชุ่มน้ำทุบให้แผ่ ตัดเป็นท่อนให้พอเหมาะกับขนาดกิ่งตอนซึ่งเมื่อจะหุ้มก็จะสามารถหุ้มกิ่งได้ง่าย ส่วนการหุ้มอาจใช้วัตถุชนิดเดียว เช่น หญ้ามอสส์ล้วนๆ หรือกาบมะพร้าวล้วนๆ หรืออาจใช้ดินหุ้มก่อนแล้วหุ้มหญ้ามอสส์ หรือกาบมะพร้าวอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ข้อสำคัญก็คือ ต้องพันหรือหุ้มวัตถุหุ้มกิ่งให้แน่นพอสมควร อย่าให้หมุนหรือคลอนไปมาได้ง่าย และพยายามหุ้มให้กลางกระเปาะวัตถุที่หุ้มอยู่ตรงกับบริเวณที่ออกรากด้วย
การหุ้มกิ่งตอน
จ. การรักษาความชื้น หลังจากตอนกิ่งแล้วโดยเฉพาะราว ๓-๕ วัน จากที่หุ้มกิ่งจะต้องรดน้ำกระเปาะตอนหรือมัดวัตถุหุ้มกิ่งที่ตอนนั้นให้ชื้นสม่ำเสมอในการรักษาความชื้นนี้อาจใช้วิธีรดน้ำกระเปาะที่ตอนทุกวัน หรือใช้วิธีรดทั้งต้นแบบฝนตกแต่ที่สะดวกก็คือใช้ผ้าพลาสติกหุ้มให้มิด ทั้งนี้เพื่อมิให้น้ำจากกระเปาะวัตถุนั้นระเหยออกมาได้ การหุ้มผ้าพลาสติกกระเปาะที่ตอนแล้ว ควรจะได้หุ้มเสียแต่ตอนแรกขณะที่วัตถุนั้นยังชื้นอยู่ ซึ่งการหุ้มพลาสติกในทำนองนี้จะช่วยให้กระเปาะกิ่งตอนชื้นอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งกิ่งออกราก อย่างไรก็ตามในระหว่างรอการออกรากควรจะได้ตรวจดูกระเปาะตอนบ้าง เพราะอาจมีมดกัดผ้าพลาสติกให้เป็นรูทำให้กระเปาะตอนแห้งได้ การแก้ไขก็คือใช้เข็มฉีดยา ฉีดน้ำเข้าไปในกระเปาะตอนราว ๕-๗วันต่อครั้ง จนกว่ากิ่งจะออกรากมากพอและตัดมาปลูกได้
การหุ้มกิ่งตอนด้วยพลาสติกเพื่อรักษาความชื้น
กิ่งตอนที่ออกรากแล้ว
การติดตา
เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่นำเอาส่วนตาหรือกิ่งของพืชต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ดีหรือกิ่งพันธุ์ดีไปติดเข้ากับพืชอีกต้นหนึ่ง เพื่อให้ตาของพืชเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป ส่วนต้นตอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบรากนั้น เป็นต้นพืชที่มีความแข็งแรงหาอาหารเก่งเจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี พืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการติดตา มีทั้งไม้ดอกไม้ประดับและไม้ผล
การติดตา
เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านการช่วยเปลี่ยนยอดต้นพืชที่มีลักษณะไม่ดีให้เป็นพันธุ์ดีได้ ทำให้พันธุ์พืชมีความแข็งแรง ต้านทานศัตรูและความแห้งแล้งได้ดีเพราะมีต้นตอที่แข็งแรงสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากเพราะกิ่งพันธุ์แต่ละกิ่งจะมีหลายตา นอกจากนี้ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ไม้ด้วย โดยเฉพาะการผลิตพืชแฟนซี ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตหลายอย่างในต้นเดียวกัน เช่น มะม่วงอกร่องมะม่วงเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ ในต้นเดียวกัน หรือไม้ดอก เช่น กุหลาบ จะมีดอกหลายสีในต้นเดียวกัน ฯลฯ ทั้งนี้ การติดตาสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วโดยสามารถนำตาจากกิ่งพันธุ์ดี จากแหล่งหนึ่งไปทำการติดตาอีกแหล่งหนึ่งได้ แต่อาจต้องใช้เวลาในการบังคับและเลี้ยงตาใหม่ให้เป็นต้นพืชยาวนานกว่าการต่อกิ่ง ดังนั้นผู้ที่ทำการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการติดตาได้ดีต้องมีความชำนาญและประณีตในการขยายพันธุ์
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการติดตา
ได้แก่
1) ต้นตอ หมายถึง ส่วนของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบรากหาอาหารหล่อเลี้ยงต้นพืชมี 2 ชนิด คือ
(1) ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด
(2) ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อ
1. ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ทุเรียน มะขาม เป็นต้น ต้นตอที่มีลักษณะดี จะต้องมีลำต้นตั้งตรง ไม่บิดคดหรือมีรอยต่อระหว่างต้นและรากเป็นแบบคอห่าน ซึ่งเกิดจากการวางเมล็ดลงเพาะผิดวิธี
2. ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ ตอนกิ่งหรือแยกหน่อ บางครั้งเรียกว่า ต้นตอตัดชำ ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ดอกไม้ประดับ เช่นกุหลาบ ชบา เข็มโกสน เฟื่องฟ้า ผกากรอง โมก เป็นต้น ข้อเสียของต้นตอตัดชำ คือ มีระบบรากตื้นแต่ถ้านำไปเป็นต้นตอสำหรับไม้ผล จะต้องทำการเสริมรากเพิ่มขึ้น การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น ต้นตอ ควรมีคุณสมบัติดังนี้
(1) เจริญเติบโตเร็ว ปราศจากโรคและแมลงและทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
(2) ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งด้วยวิธีเพาะเมล็ด ตัดชำหรือตอนกิ่ง
(3) สามารถเชื่อมต่อกับกิ่งพันธุ์ดีต่าง ๆ ได้มาก
(4) หาเมล็ดหรือต้นได้ง่าย
(5) เป็นพืชที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด
2) ตาจากกิ่งพันธุ์ดี หมายถึง ส่วนของพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบยอดในต้นพืชสำหรับการขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตา การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็นกิ่งพันธุ์ดี ควรมีคุณสมบัติดังนี้
(1) เป็นกิ่งที่มีตาแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตายอดหรือตาข้าง
(2) ควรเลือกจากกิ่งกระโดง หรือกิ่งน้ำค้าง
(3) เป็นกิ่งที่มีความสมบูรณ์ปานกลาง โดยสังเกตจากข้อที่ไม่ถี่หรือห่างเกินไป
(4) ตาของกิ่งพอเหมาะ คือ มีขนาดพอประมาณเท่าดินสอดำ
(5) เป็นกิ่งที่ได้จากต้นแม่ที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรค
(6) ถ้าเป็นกิ่งแก่ควรมีอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะถ้าอายุมากเกินไปตาที่ติดจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
การติดตาแบบตัวที (T. budding) สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาต้นพืชแบบตัวที
๑. ต้นตอจะต้องมีเปลือกล่อนสามารถลอกเปลือกต้นตอได้ง่าย
๒. ต้นตอไม่ควรมีขนาดโตเกินไป ควรจะมีขนาดเท่าดินสอดำหรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณไม่เกิน ๑/๒ นิ้ว
๓. ไม่เป็นพืชที่มีเปลือกบาง หรือเปลือกเปราะ หรือมีเปลือกหนาเกินไป
๔. เป็นวิธีที่ใช้ในการติดตาต้นพืชทั่วๆ ไป เช่น ใช้กับกุหลาบ พุทรา ส้ม เป็นต้น
วิธีติดตาแบบตัวที
ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ
๑. เลือกต้นตอบริเวณที่เป็นปล้องแล้วกรีดเปลือกให้ถึงเนื้อไม้เป็นรูปตัวที (T) โดยให้หัวของตัวทีที่กรีดยาวประมาณ ๑/๒ นิ้ว และความยาวของตัวทียาว 1 -1.1/2 นิ้ว ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของต้นตอ
๒. ใช้ปลายมีดแงะบริเวณหัวตัวทีให้เปลือกเผยอเล็กน้อย แล้วล่อนเปลือกของต้นตอด้วยปลายเขาที่ติดอยู่ที่ด้ามมีด
ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
๑. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปโล่ให้ติดเนื้อไม้เล็กน้อย ในกรณีที่พืชนั้นมียางควรจะลอกเนื้อไม้ทิ้งเพื่อให้มีบริเวณของการเกิดรอยต่อมากขึ้น
ค. การสอดกิ่งพันธุ์ดีบนต้นตอ
๑. สอดแผ่นตาลงบนแผลรูปตัวทีที่เตรียมไว้ แล้วค่อย ๆ กดแผ่นตาลงไปในแผลให้สนิทและลึกราว ๑/๒ นิ้ว เหนือตา
๒. ถ้าเปลือกแผ่นตายังเหลือเลยหัวตัวทีให้ตัดส่วนที่เหลือออกพอดีกับหัวตัวที
๓. ใช้ผ้าพลาสติกที่ตัดเป็นชิ้นขนาดกว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาวราว ๒๐-๒๕ ซม. พันทับแผ่นตาให้แน่น และควรพันจากข้างล่างขึ้นข้างบน
๔. หลังจาก ๑๐ วัน จึงตรวจ ถ้าตาใดยังสดก็แสดงว่าติด จึงเปิดผ้าพันตาแล้วพันใหม่ให้คร่อมตา
ภาพการติดตาแบบตัวที
การติดตาแบบชิพ (chip budding)
สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาแบบชิพก็คือ
๑. เป็นวิธีที่ใช้ในการติดตาต้นพืชที่ลอกเปลือกไม่ได้ เป็นพืชพืชที่มีเปลือกบางหรือเปลือกหนาหรืออยู่ในระยะพักตัว
๒. มักใช้กับพืชที่ไม่มียาง และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นตอประมาณ ๒/๓ -๑/๒ นิ้ว
๓. มักใช้ในการติดตา องุ่น ชบา ฯลฯ
วิธีติดตา ปฎิบัติดังนี้ (modified chip)
ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ
๑. เลือกต้นตอที่เปลือกติด หรือที่ชะงักการเจริญ
๒. เฉือนต้นตอเฉียงลงให้เข้าเนื้อไม้เล็กน้อย และยาวประมาณ ๑ นิ้ว
๓. เฉือนตัดขวางให้จดโคนแผลที่เฉือนครั้งแรก โดยให้รอยเฉือนนี้ทำมุม ๔๕ องศา กับลำต้นแล้วแกะชิ้นส่วนของพืชที่เฉือนออก
ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
เฉือนแผ่นตาบนกิ่งพันธุ์ดีให้มีความยาวเท่ากับรอยแผลที่เตรียมบนต้นตอ โดยกะให้ตาอยู่ตรงกลางพอดี
ค. การสอดแผ่นตา
๑. ประกอบแผ่นตาบนต้นตอ โดยให้เยื่อเจริยด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้านสัมผัสกับเยื่อเจริญของต้นตอ
๒. ใช้ผ้าพลาสติกพันตา เช่นเดียวกับการติดตาแบบตัวที
การติดตาแบบชิพ (chip budding)
การติดตาแบบเพลท (Plate budding)
สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาแบบเพลท คือ
๑. มักใช้กับต้นตอที่มีขนาดโต คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑/๒ – ๑ นิ้ว
๒. ต้นตอต้องลอกเปลือกได้หรือมีเปลือกล่อน
๓. เป็นพืชที่มีเปลือกหนาและเหนียวพอสมควร
๔. นิยมใช้กับพืชมียาง เช่น มะม่วง ขนุน ยางพารา หรือพืชบางชนิดที่เกิดเนื้อเยื่อช้า เช่น มะขามหรือน้อยหน่า เป็นต้น
วิธีติดตาแบบเพลท
ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ
๑. เลือกต้นตอบริเวณที่จะทำแผลให้เป็นปล้องที่เรียบและตรง
๒. กรีดเปลือกต้นตอถึงเนื้อไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานเปิดดังภาพ
๓. เผยอเปลือกต้นตอออกจากเนื้อไม้ ทางด้านบนหรือด้านล่างของรอยกรีด แล้วลอกเปลือกขึ้นหรือลงตามรอยกรีดที่เตรียมไว้แล้ว
ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
เฉือนแผ่นตากิ่งพันธุ์ดีให้เป้นรูปโล่ ยาวประมาณ 1 นิ้ว แล้วแกะเนื้อไม้ออก
ค. การสอดแผ่นตาบนแผลของต้นตอ
๑. ประกบแผ่นตาลงบนแผลของต้นตอ จัดแผ่นตาให้อยู่กลางแผลแล้วประกอบแผ่นเปลือกของต้นตอทับแผ่นตา แต่ถ้าใช้ตาอ่อนจะต้องตัดแผ่นเปลือกต้นตอตอนบนออก ๓ ส่วนเหลือไว้ ๑ ส่วน
๒. พันผ้าพลาสติกเช่นเดียวกับการติดตาแบบตัวทีหรือแบบชิพ และต้องใช้พลาสติกใส เมื่อใช้ตาอ่อน
การต่อกิ่ง
การต่อกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศที่สามารถทำไดโดยการนำกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า 1 ตา มาต่อบนต้นตอเพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญทั้งสองเชื่อมประสานเป็นต้นเดียวกัน การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่อกิ่งจะดีกว่าการติดตามาก เพราะจะได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่ามาก การต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชบางชนิด เช่น เฟื่องฟ้า ชบา โกสน เล็บครุฑ มะม่วง พุทรา ขนุน องุ่น ฯลฯ
ความมุ่งหมายที่สำคัญของต่อการกิ่งพืช คือ เพื่อต้องการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน ให้มีชีวิตและเจริญเติบโตร่วมกันเสมือนเป็นพืชต้นเดียวกัน ทั้งนี้การต่อกิ่งพืชสามารถเลือกทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ฤดูกาลและความชำนาญของผู้ต่อกิ่ง
การต่อกิ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มและช่วยเปลี่ยนยอดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มยอดกิ่งเฟื่องฟ้าให้มีหลากหลายสี การเปลี่ยนยอดต้นโมกเขียวให้เป็นโมกด่าง การเปลี่ยนยอดมะม่วงให้เป็นมะม่วงแฟนซี คือมีหลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน นอกจากนี้ การต่อกิ่งยังเป็นการช่วยซ่อมแซมส่วนของต้นพืชที่ได้รับอันตรายจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากต้นตอที่มีลักษณะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและศัตรูพืช
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการต่อกิ่ง
1) พืชที่นำมาเสียบเข้าด้วยกันต้องเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่อาจต่างพันธุ์กันได้
2) กิ่งพันธุ์ดีจะต้องมีความสดอยู่เสมอ ซึ่งควรเก็บรักษาไว้ในห้องเย็น
3) รอยแผลที่ทำการเสียบจะต้องแนบกันสนิทให้เนื้อเยื่อเจริญของพืชทั้งสองส่วนสัมผัสกันมากที่สุด เพื่อจะได้เชื่อมประสานกันได้รวดเร็ว
4) เลือกตาพันธุ์ที่กำลังพักตัว คือ พร้อมที่จะแตกยอดใหม่
5) ใช้แถบพลาสติกพันทับรอยเชื่อม ไม่ให้น้ำและเชื้อโรคเข้าได้
6) รอยแผลจะต้องรักษาความสะอาดให้มากที่สุดระวังอย่าให้สัมผัสน้ำหรือความชื้นมากเกินไป
7) ลิดใบพันธุ์ดีทิ้ง และใช้พลาสติกคลุมป้องกันการคายน้ำ และรักษาความชื้น
ข้อควรพิจารณาในการต่อกิ่ง ได้แก่
1) การเลือกต้นตอ จะต้องให้มีขนาดเหมาะสมกับกิ่งพันธุ์ดี มีความแข็งแรงปราศจากศัตรูพืช มีระบบรากแข็งแรงและหาง่าย ราคาถูก
2) การเลือกกิ่งพันธุ์ ควรเป็นกิ่งที่สมบูรณ์แข็งแรง มีตาที่ไม่ใช่ตาดอก โดยปกติส่วนมากจะเลือกกิ่งที่มีอายุ 1 ปี หรือน้อยกว่า
3) การเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ในการเฉือนแผลต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ควรจะให้รอยแผลเรียบและไม่ช้ำ (เกิดจากการผ่าหรือเฉือนหลายครั้ง จึงต้องมีความชำนาญในการเฉือนเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีช้ำ)
4) การป้องกันเชื้อโรค การทำให้เกิดบาดแผลแก่ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดเชื้อโรค จึงต้องระวังในเรื่องของความสะอาดโดยเฉพาะ มีดต้องสะอาดและคม
5) การวางแนวเยื่อเจริญระหว่างต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ต้องอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อให้รอยประสานเกิดได้เร็วขึ้น
6) การบังคับให้กิ่งพันธุ์ดีเติบโต ภายหลังต่อกิ่งจะต้องทำการบังคับเพื่อป้องกันการลำเลียงออกซิเจนจากกิ่งยอดลงมายังกิ่งข้าง ทำให้เกิดลักษณะที่ตายอดข่มตาข้าง โดยการบากเหนือรอยต่อให้ลึกถึงเนื้อไม้
7) ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับต่อกิ่ง ควรเป็นระยะที่พืชมีเจริญเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวรองลงมา คือ กลางฤดูฝน
เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อกิ่ง
1) ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี
2) ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ
3) มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์ กรรไกรตัดแต่งกิ่ง พลาสติกพันกิ่ง
4) วัสดุที่ใช้ในการคลุมกิ่ง เช่น เชือก ถุงพลาสติกขนาดเล็ก ถุงกระดาษคลุมกิ่ง
วิธีการต่อกิ่งที่นิยม วิธีการต่อกิ่งมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน แต่ที่ชาวสวนหรือผู้ประกอบการผลิตพันธุ์ไม้ปฏิบัติมาก เพราะสามารถทำได้ง่ายและได้รับความสำเร็จสูง โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผล วิธีที่นิยม ได้แก่
1) การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม
2) การต่อกิ่งแบบฝานบวบ
3) การต่อกิ่งแบบเข้าลิ้น
4) การต่อกิ่งเสียบข้าง
5) การต่อกิ่งเสียบเปลือก
1) การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม พันธุ์ไม้ที่นิยม เช่น เฟื่องฟ้า โกสน น้อยหน่า ทับทิม มีขั้นตอนดังนี้
(1) ตัดยอดต้นตอที่แตกใหม่ ให้เหลือยาวประมาณ 4 นิ้ว แล้วผ่ากลางกิ่งพืชที่ต้องการเสียบยอดให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว
(2) เฉือนยอดพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาวประมาณ 2 นิ้ว
(3) เสียบยอดพันธุ์ดีลงในแผลของต้นตอ ให้รอยแผลทั้งสองตรงกัน แล้วใช้เชือกมัดด้านบนและล่างรอยแผลต้นตอให้แน่น
(4) คลุมต้นที่เสียบยอดแล้วด้วยถุงพลาสติกหรือนำไปเก็บในโรงอบพลาสติก (ถ้าต้นพืชที่ทำการเสียบยอดอยู่กลางแจ้งควรใช้ถุงกระดาษเล็กหุ้มก่อน เพื่อป้องกันความร้อน)
(5) ประมาณ 5-7 สัปดาห์รอยแผลจะประสานกันดีแล้วให้นำออกมาพักไว้ในโรงเรือนที่รอการปลูกต่อไป
2) การต่อกิ่งแบบฝานบวบ พันธุ์ไม้ที่นิยม ได้แก่ประเภทไม้อวบน้ำ และไม้เนื้ออ่อน เช่น ฤาษีผสม แค็คตัสชนิดต่างๆ มะเขือเทศ ฟักทอง มะละกอ แตงชนิดต่างๆ เป็นต้น มีขั้นตอนดังนี้
(1) เฉือนต้นตอให้เฉียงขึ้น เป็นลักษณะเช่นเดียวกับฝานบวบ ให้ความยาวของรอยเฉือน ประมาณ 1-1.5 นิ้ว รอยแผลที่ได้จะมีลักษณะคล้ายโล่
(2) เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับต้นตอ แต่เฉือนลง (ตรงข้ามกับต้นตอ)
(3) นำกิ่งพันธุ์ดี ประกบเข้ากับต้นตอ โดยให้รอยแผลประกบกันให้สนิท
(4) ใช้แถบพลาสติกพันรอบรอยแผลให้แน่น โดยพันจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน
(5) หลังจากกิ่งเชื่อมประสานกันดีแล้ว ให้แกะพลาสติกออก เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตและขยายออกได้เต็มที่
3) การต่อกิ่งแบบเข้าลิ้น นิยมต่อกิ่งกับพันธุ์ไม้ประเภทอวบน้ำและเนื้ออ่อน เช่นเดียวกับการต่อกิ่งแบบฝานบวบ มีขั้นตอนดังนี้
(1) เฉือนต้นตอเฉียงขึ้นในลักษณะการฝานบวบ ให้รอยแผลยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว
(2) ผ่ารอยแผลให้มีลักษณะเป็นลิ้น
(3) เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เฉียงลง ลักษณะและขนาดรอยแผลเช่นเดียวกับต้นตอ
(4) ผ่ารอยแผลกิ่งพันธุ์ดี ให้มีลักษณะเป็นลิ้น
(5) นำกิ่งพันธุ์ดี สวมลงบนต้นตอให้ลิ้นขัดกัน
(6) ใช้คลิปหนีบหรือพันด้วยพลาสติก
(7) หลังจากรอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ประสานเชื่อมติดกันสนิทแล้ว (ประมาณ 1 เดือน) หลังจากต่อกิ่งให้เอาคลิปหรือแกะพลาสติกออก
4) การต่อกิ่งเสียบข้าง พืชที่นิยมทำได้แก่ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น โกสน เล็บครุฑ สนชนิดต่างๆ โป๊ยเซียน ฯลฯ และไม้ผล เช่น ขนุน กระท้อน ฯลฯ มีขั้นตอนดังนี้
(1) เฉือนต้นตอจากปลายไปสู่โคน โดยเฉือนลึกเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อย ให้แผลยาวประมาณ 1.5-2 นิ้ว
(2) ตัดยอดกิ่งพันธุ์ดี ยาวประมาณ 2-3 นิ้ว เฉือนให้เป็นรูปปากฉลาม รอยแผลยาวประมาณ 1.5-2 นิ้ว เฉือนด้านหลังของรอยแผล เพื่อให้แผลมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม
(3) นำยอดกิ่งพันธุ์ดี เสียบเข้ารอยแผลของต้นตอ จัดให้รอยแผลแนบสนิทกัน โดยจัดให้ส่วนของเนื้อเยื่อเจริญของกิ่งพันธุ์ดีและต้นตอตรงกัน
(4) พันด้วยพลาสติก หุ้มรอยแผลให้แน่น โดนพันจากล่างขึ้นบน
(5) ประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงแกะพลาสติกออกแล้วพันใหม่ โดยเว้นส่วนของยอดกิ่งพันธุ์ดีไว้ เพื่อให้ตาแตกยอดใหม่ออกมาได้
(6) หลังจากกิ่งใหม่เจริญดีแล้ว จึงตัดยอดเดิมของต้นตอทิ้งไป เพื่อให้ยอดใหม่เจริญได้เต็มที่
5) การต่อกิ่งเสียบเปลือก พันธุ์ไม้ที่นิยมส่วนมากเป็นไม้ผลที่มีเปลือกหนา ล่อน และลอกเปลือกได้ง่าย ได้แก่ มะม่วง ขนุน กระท้อน มีขั้นตอนดังนี้
(1) ตัดต้นตอ ตั้งฉากกับกิ่งบริเวณใต้ข้อและชิดข้อ
(2) กรีดเปลือกต้นตอตามแนวตั้งยาวประมาณ 2 นิ้ว แล้วเผยอเปลือกต้นตอที่กรีดไว้
(3) เลือกยอดพันธุ์ดีที่มีตายอดเต่ง พร้อมที่จะแตกเป็นยอดใหม่ ตัดยอดพันธุ์ดี ประมาณ 3 นิ้ว แล้วเฉือนจากปลายไปโดยให้รอยแผลเป็นรูปปากฉลาม ยาวประมาณ 2-2.5 นิ้ว หรือเท่ากับรอยแผลของต้นตอ จากนั้นตัดปลายส่วนของด้านหลังของรอยแผลเฉียงประมาณ 45 องศา เพื่อให้รับกับรอยแผลของต้นตอที่เตรียมไว้
(4) นำยอดกิ่งพันธุ์ดีมาสอดเข้ารอยแผลของต้นตอจัดให้รอยแผลสนิทกัน
(5) พันกิ่งให้แน่นด้วยแถบพลาสติก โดยพันจากด้านล่างขึ้นบน
(6) ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากยอดพันธุ์ดีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แสดงว่ารอยแผลไม่เชื่อมประสานกันจึงแกะออกทิ้ง แต่ถ้ายอดพันธุ์ยังเขียวดีอยู่แสดงว่ายังมีชีวิตอยู่จึงแกะพลาสติกที่พันไว้ออก แล้วพันใหม่โดยพันคร่อมยอดให้ยอดโผล่ เพื่อให้ตาเจริญออกมาได้ถ้าหากฝนตกควรกรีดพลาสติกด้านล่าง เพื่อให้น้ำซึมออกได้
(7) บากเตือนต้นตอ โดยบากเหนือรอยแผลเล็กน้อยบากลึกประมาณ 1 ใน 3 ของลำต้นและเมื่อยอดใหม่เจริญดีแล้ว จึงตัดยอดของต้นตอทิ้งไป เพื่อให้ยอดกิ่งพันธุ์ดีเจริญเป็นต้นใหม่แทน
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เป็นวิทยาการสมัยใหม่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุ์พืชเอกลักษณ์ที่หายาก มิให้สูญพันธุ์และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่ง แต่มีการปฏิบัติภายใต้สภาพที่ควบคุมเรื่องความสะอาดแบบปลอดเชื้อ อุณหภูมิ และแสง ด้วยการนำชิ้นส่วนของพืชที่ยังมีชีวิต เช่น ลำต้น ยอด ตาข้าง ก้านช่อดอก ใบ ก้านใบ อับละอองเกสร เป็นต้น มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ และชิ้นส่วนนั้นสามารถเจริญและพัฒนาเป็นต้นพืชที่สมบูรณ์มีทั้งส่วนใบ ลำต้น และรากที่สามารถนำออกปลูกในสภาพธรรมชาติได้
ที่ผ่านมามีการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชประยุกต์ใช้กับงานด้านเภสัชวิทยา และชีววิทยา แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาและนำมาใช้แก้ปัญหาหรือเพื่อประโยชน์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมกันมากขึ้น เช่น การนำเมล็ดไผ่มาผลิต-ขยายด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ไผ่ออกดอกประมาณปี 2538 หรือการนำหน่อที่มีคุณลักษณะที่ดีของหน่อไม้ฝรั่งมาผลิต-ขยายด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อลดปัญหาการใช้เมล็ดซึ่งมีการคละเพศนอกเหนือจากราคาของเมล็ดพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกด้วย เป็นต้น
ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
คุณสมบัติที่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ของวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีหลายข้อพอสรุปได้ดังนี้
1. สามารถผลิตต้นพันธุ์พืชปริมาณมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หากพืชสามารถเพิ่มปริมาณได้ 3 เท่าต่อการย้ายเนื้อเยื่อลงอาหารใหม่ทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน จะสามารถผลิตต้นพันธุ์พืชได้ถึง 243 ต้น
2. ต้นพืชที่ผลิตได้จะปลอดโรค โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสมายโคพลาสมา ด้วยการตัดเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่บริเวณปลายยอดของลำต้น ซึ่งยังไม่มีท่อน้ำท่ออาหารอันเป็นทางเคลื่อนย้ายของเชื้อโรคดังกล่าว
3. ต้นพืชที่ผลิตได้ จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ คือ มีลักษณะตรงตามพันธุ์ด้วยการใช้เทคนิคของการเลี้ยงจากชิ้นตาพืชพัฒนาเป็นต้นโดยตรงหลีกเลี่ยงขั้นตอนการเกิดกลุ่มก้อนเซลล์ที่เรียกว่า แคลลัส
4. ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐานและเก็บเกี่ยวได้คราวละมากๆ พร้อมกัน หรือในเวลาเดียวกัน
5. เพื่อการเก็บรักษาหรือแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างประเทศ เช่น การมอบเชื้อพันธุ์กล้วยในสภาพปลอดเชื้อ ขององค์กรกล้วยนานาชาติ (INIBAP) ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2542
6. เพื่อประโยชน์ด้านการสกัดสารจากต้นพืชนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค เป็นต้น
พันธุ์พืชที่ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
1. อ้อย
2. เบญจมาศ
3. สตรอเบอรี่
4. หน่อไม้ฝรั่ง
5. ขิง
6. มันฝรั่ง
7. สับปะรด
8. สมุนไพร
9. กล้วย
10. กระเจียว/ปทุมมา
11. ปูเล่
12. ไผ่
13. กล้วยไม้ป่า
14. สมุนไพร
ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง
ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1. ห้องเตรียมอาหาร ควรเป็นห้องที่มีโต๊ะสำหรับเตรียมสารเคมี อ่างน้ำ ตู้เย็น สำหรับเก็บสารละลายเข้มข้น เครื่องชั่ง เครื่องวัดความเป็นกรด-ด่าง เตาหลอมอาหาร หม้อนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แบบความดันไอน้ำ
2. ห้องถ่ายเนื้อเยื่อ เครื่องมือสำคัญในห้องนี้คือ ตู้สำหรับเลี้ยงหรือถ่ายเนื้อเยื่อเป็นตู้ที่มีอากาศถ่ายเทผ่านแผ่นกรองที่สามารถกรองจุลินทรีย์ไว้ได้ตลอดเวลาทำให้อากาศภายในตู้บริสุทธิ์ช่วยให้ทำงานสะดวกรวดเร็ว
3. ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงเนื้อเยื่อจะแตกต่างกันสำหรับพืชแต่ละชนิด โดยทั่วไปมักจะปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องให้มีอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่ให้แสงประมาณ 12-16 ชั่วโมง/วัน ความเข้มของแสง 1,000-3,000 ลักซ์
การดูแลห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจะต้องสะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจดูขวดหรือภาชนะที่เลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ถ้าพบว่ามีจุลินทรีย์ขึ้นปะปนจะต้องรีบนำออกไปต้มฆ่าเชื้อและล้างทันทีไม่ให้เป็นที่สะสมเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งอาจแพร่กระจายภายในห้องได้
อุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
1. พันธุ์พืชที่จะนำมาเพาะเลี้ยงควรสะอาด ปราศจากโรคและเป็นส่วนที่สำคัญที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ตาเป็นอวัยวะที่ดีที่สุด ส่วนใบ ดอก ราก ก็สามารถนำมาเลี้ยงได้
2. เครื่องแก้วต่างๆ ได้แก่ ฟลาสค์ บีกเกอร์ ปิเปตต์ จานเพาะเชื้อ กระบอกตวง ขวดสำหรับเลี้ยงเนื้อเยื่อ
3. สารเคมีต่าง ๆ
3.1 สารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อที่ติดมากับผิวพืช เช่น คลอรอกซ์ เอททิลแอลกฮอล์ เมอคิวริคคลอไรด์ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
3.2 สารเคมีที่ใช้เตรียมสูตรอาหารต่าง ๆ
3.3 สารเคมีที่ควบคุมการเจริญเติบโต
3.4 น้ำตาลซูโครส
3.5 วุ้น
4. เครื่องมือผ่าตัด ได้แก่ มีดผ่าตัด ปากคีบ
5. ตู้ถ่ายเนื้อเยื่อ
6. อุปกรณ์เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ
7. อาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือองค์ประกอบของอาหารที่เหมาะสม ซึ่งต้องประกอบด้วยอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สูตรอาหารเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1. สารอนินทรีย์
2. สารประกอบอินทรีย์
3. สารที่ได้จากธรรมชาติ
4. สารไม่ออกฤทธิ์
สารอนินทรีย์ ได้แก่ ธาตุอาหารหลัก คือ ธาตุอาหารที่พืชจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารรองหรือธาตุอาหารที่พืชจำเป็นใช้ในปริมาณน้อย เช่น แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โมลิบดีนัม โบรอน ไอโอดีน โคบอล คลอรีน
สารประกอบอินทรีย์ แบ่งออกได้หลายพวก คือ
2.1 น้ำตาล
2.2 ไวตามิน ชนิดที่มีความสำคัญ ได้แก่ ไธอะมีน
2.3 อมิโนแอซิค เช่น ไกลซีน
สารควบคุมการเจริญเติบโต ได้แก่ ออกซิน ไซโตไคนิน จิบเบอเรลลิน
สารอินทรีย์พวก อิโนซิทอล อะดีนีน ช่วยส่งเสริมให้เกิดยอด ซิตริค
หรือแอสคอบิคแอซิดช่วยลดน้ำตาลที่บริเวณชิ้นส่วนพืช
สารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น กล้วยบด น้ำมะพร้าว น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ
สารไม่ออกฤทธิ์ เช่น วุ้นช่วยให้พืชตั้งอยู่ได้ ผงถ่านช่วยดูดซับสารพิษที่พืชสร้าง ออกมาและเป็นพิษกับพืชเอง
การเตรียมสารละลายเข้มข้น
การเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช จะไม่เตรียมโดยการชั่งสารเคมีในแต่ละครั้งที่เตรียม แต่จะเตรียมเป็นสารละลายเข้มข้น คือ การรวมสารเคมีพวกที่สามารถรวมกันได้โดยไม่ตกตะกอนไว้ด้วยกัน
วิธีการเตรียมเริ่มจากชั่งสารเคมีตามจำนวนที่ต้องการละลายสารแต่ละชนิดให้หมดก่อนแล้วจึงนำมาผสมกัน เติมน้ำกลั่นให้ได้ปริมาณที่ต้องการกวนให้เข้ากัน แล้วจึงบรรจุในขวดสารละลาย ลงรายละเอียดชนิดของสาร ความเข้มข้น วันเดือนปี ปริมาตร แล้วเก็บในตู้เย็น
วิธีการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
1. นำสารละลายเข้มข้นชนิดต่างๆ มาผสมกัน ค่อยๆ กวนให้เข้ากันจนหมดครบทุกชนิด
2. เติมน้ำตาล แล้วเติมน้ำกลั่นให้ได้ปริมาตรที่ต้องการ ปรับ pH 5.6-5.7
3. นำวุ้นผสมกับอาหารที่เตรียม หลอมวุ้นให้ละลาย
4. บรรจุลงในขวดอาหารในปริมาตรเท่าๆ กัน ปิดฝาให้สนิท
การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอาหาร
นำขวดที่บรรจุอาหารแล้วไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันไอน้ำที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว เป็นเวลา 15-20 นาที
การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บริเวณภายนอกชิ้นส่วนพืช
เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดมากับบริเวณผิวนอกของชิ้นส่วนพืช เนื่องจากอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมีธาตุอาหารและไวตามินที่จุลินทรีย์ต่างๆ เจริญได้ดีและรวดเร็วกว่าเนื้อเยื่อพืช การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำได้สะดวกและได้ผลดี โดยการใช้สารเคมีชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้หมดทุกชนิด และล้างออกได้ง่าย เพราะถ้าล้างออกได้ยากสารเคมีเหล่านี้จะมีผลทำให้เนื้อเยื่อพืชตาย หรือมีการเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร การเติมน้ำยาซักฟอกลงไปในสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์จะทำให้ประสิทธิภาพสารเคมีเหล่านั้นดีขึ้น เนื่องจากจะทำให้ลดแรงตึงผิวบริเวณผิวนอกของชิ้นส่วนพืช สารเคมีจะแทรกซึมเข้าไปทำลายจุลินทรีย์ตามซอกต่างๆ ได้ดีขึ้นการเตรียมสารเคมีฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทำโดยตวงสารให้ได้ปริมาณตามที่ต้องการ แล้วเติมน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อและน้ำยาซักฟอกลงไปเขย่าให้เข้ากันการเตรียมนี้ควรเตรียมใหม่ทุกครั้งที่ใช้
วิธีการเลี้ยงเนื้อเยื่อ
1. นำชิ้นส่วนพืชที่ต้องการมาล้างน้ำให้สะอาด
2. ตกแต่งชิ้นส่วนพืช ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
3. นำชิ้นส่วนพืชจุ่มในแอลกอฮอล์ 95% เพื่อลดแรงตึงผิวบริเวณนอกชิ้นส่วนพืช
4. นำชิ้นส่วนพืชมาเขย่าในสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้นาน
10-15 นาที
5. ใช้ปากคีบคีบชิ้นส่วนพืช ล้างในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อ 3 ครั้ง
6. ตัดชิ้นส่วนพืชตามขนาดที่ต้องการแล้ววางบนอาหารสังเคราะห์
7. ลงรายละเอียด เช่น ชนิดพืช วันเดือนปี หรือรหัส ในการทำการฆ่าเชื้อที่ติดมากับผิวพืชและการนำไปเลี้ยงบนอาหารทำในตู้ถ่ายเนื้อเยื่อโดยตลอด
การดูแลเนื้อเยื่อระหว่างการเลี้ยง
1. นำขวดเลี้ยงเนื้อเยื่อไปวางบนชั้นในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมโดยทั่วไปปรับอุณหภูมิภายในห้องประมาณ 25 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่ให้แสงประมาณ 12-16 ชั่วโมง/วัน ความเข้มของแสง 1,000-3,000 lux
2. เนื้อเยื่อพืชที่เลี้ยงควรเปลี่ยนอาหารใหม่ทุก 2 สัปดาห์ ระหว่างการเลี้ยงตรวจดู
3. การเจริญเติบโต สังเกตุการเปลี่ยนแปลง บันทึกรายงานไว้เพื่อเป็นข้อมูล
4. การย้ายพืชออกจากขวดเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อลงปลูกในกระถาง
เมื่อพืชเจริญเติบโตเป็นต้นที่สมบูรณ์แล้ว ก็นำลงปลูกในกระถางดังนี้
1. เตรียมทราย : ถ่านแกลบ หรือ ทราย : ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1 : 1 ใส่กระถางหรือกระบะพลาสติค
2. ใช้ปากคีบ คีบต้นพืชออกจากขวดอย่างระมัดระวัง
3. ล้างเศษวุ้นที่ติดอยู่บริเวณรากออกให้หมด
4. จุ่มยากันรา ตามอัตราส่วนที่กำหนดในสลากยา
ปลูกในกระถางหรือกระบะ
นำไปไว้ในตู้ควบคุมความชื้น แสง อุณหภูมิ หรือนำไว้ในกระบะพ่นหมอก เมื่อพืชเจริญตั้งตัวดีแล้วจึงย้ายลงแปลงปลูกต่อไป
ที่มา:http://www.thaigoodview.com/library/contest2553/type2/science04/24/pages/index5cfa.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น