การเกิดผลและเมล็ด

โครงสร้างของผลและเมล็ด





เมื่อรังไข่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นผล ผนังรังไข่จะเปลี่ยนเป็นเพริคาร์ป (pericarp) ห่อหุ้มเมล็ดอยู่ภายในเพริคาร์ปของผลแต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกัน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ได้แก่ เอกโซคาร์ป มีโซคาร์ปและเอนโดคาร์ป
        1.1 เอกโซคาร์ป (exocarp) เป็นชั้นนอกสุดของผลที่มักเรียกว่าเปลือก โดยทั่วไปประกอบด้วยเนื้อเยื่อเอพิเดอร์มิสเพียงชั้นเดียว แต่ก็มีผลบางชนิดที่เอกโซคาร์ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายชั้นและอาจมีปากใบด้วย เอกโซคาร์ปของพืชแต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น เรียบเหนียว เป็นมัน ขรุขระ อาจมีหนาม มีขนหรือต่อมน้ำมัน
        1.2 มีโซคาร์ป (mesocarp) เป็นชั้นกลางถัดจากเอกโซคาร์ปเข้ามา ผลบางชนิดนั้นมีโซคาร์ปหนา บางชนิดบางมาก มีโซคาร์ปของผลบางชนิดเป็นเนื้ออ่อนนุ่มใช้รับประทานได้
        1.3 เอนโดคาร์ป (endocarp) เป็นชั้นในสุดของเพริคาร์ป ประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่มีความหนาชั้นเดียวหรือหลายชั้นจนมีลักษณะหนามาก บางชนิดเป็นเนื้อนุ่มใช้รับประทานได้
         เพริคาร์ปของผลแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป ผลบางชนิดมีเพริคาร์ปเชื่อมติดกันจนแยกไม่ออก เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง บางชนิดส่วนเอกโซคาร์ปและมีโซคาร์ปเชื่อมติดกันหรือแยกกันไม่เด่นชัด เช่น มะเขือเทศ มะละกอ ฟัก แต่เพริคาร์ปของพืชอีกหลายชนิดสามารถแยกเป็น 3 ชั้นชัดเจน เช่น มะม่วง พุทรา มะพร้าว มะปราง
         ผลที่กำเนิดมาจากรังไข่แบบอินฟีเรีย เช่น แตงกวา ฟักทอง ทับทิมและฝรั่ง มีเปลือกนอกเป็นผนังของฐานดอก ส่วนเพริคาร์ปจะอยู่พัดเข้าไปและมักเชื่อมรวมกันจนสังเกตยาก ผลบางชนิดมีส่วนเนื้อที่รับประทานได้เจริญมาจากฐานดอกซึ่งอวบเต่งเจริญเป็นเนื้อผล เช่น แอปเปิ้ล ส่วนที่เป็นเพริคาร์ปจริงๆจะอยู่ข้างในเนื้อของผลชนิดนี้เรียกว่า ซูโดคาร์ป (seudocarp) เมล็ดพืชบางชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ทานตะวัน ดาวเรือง ผักกาดหอม ส่วนที่เรียกว่า เมล็ดนั้นแท้จริงแล้วคือผล ซึ่งเป็นผลที่มีขนาดเล็ก มีเพริคาร์ปบางมากแนบสนิทกับเยื่อหุ้มเมล็ด ดังในกรณีของบัวส่วนของแกลบก็คือเพริคาร์ป รำคือส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดและข้าวสารที่ใช้รับประทานคือ เอนโดสเปิร์ม






ชนิดของผล
จากการศึกษาโครงสร้างของดอกและรังไข่พบว่าพืชดอกแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างของดอกจำนวนและตำแหน่งของรังไข่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากจำแนกผลตามกระบวนการเกิดผลเป็นเกณฑ์สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
        1. ผลเดี่ยว ( simple fruit ) คือผลที่เกิดมาจากรังไข่อันเดียวในดอกเดียวกัน ดอกอาจเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อก็ได้ โดยลักษณะของดอกเดี่ยวที่จะกลายเป็นผลเดี่ยวนั้นจะต้องเป็นดอก 1 ดอกและมีรังไข่ 1 อัน เช่น ผลส้ม มะเขือ ฟักทอง แอปเปิ้ล






        2. ผลกลุ่ม ( aggregate fruit ) คือ ผลที่เกิดจากรังไข่หลายรังไข่หรือกลุ่มของรังไข่ในดอกเดียวกันของดอกเดี่ยว รังไข่แต่ละอันก็จะกลายเป็นผลย่อยหนึ่งผล เช่น ผลน้อยหน่า สตรอเบอรี เป็นต้น






       3. ผลรวม ( multiple fruit ) คือผลที่เกิดจากรังไข่ของดอกแต่ละดอกของดอกช่อ ซึ่งเชื่อมรวมกันแน่น รังไข่เหล่านี้จะกลายเป็นผลย่อย ๆ เชื่อมรวมกันแน่นจนคล้ายเป็นผลเดี่ยวโดยลักษณะของดอกที่จะกลายเป็นผลรวมนั้น จะเป็นดอกช่อที่มีรังไข่ของดอกย่อย แต่ละดอกมาเชื่อมรวมกัน ได้แก่ ผลสับปะรด ขนุน สาเก ยอ หม่อน มะเดื่อ เป็นต้น






การเกิดเมล็ด
หลังจากเกิดการปฏิสนธิซ้อนแล้ว รังไข่เจริญไปเป็นผล ส่วนออวูลเจริญไปเป็นเมล็ดซึ่งภายในประกอบด้วยเอ็มบริโอและเอนโดสเปิร์ม โดยมีเปลือกหุ้มเมล็ดล้อมรอบ เมื่อพืชดอกมีการปฏิสนธิซ้อน ทำให้ได้ทั้งไซโกตและเอนโดสเปิร์มซึ่งไซโกตจะมีการแบ่งเซลล์ต่อๆไปเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์กลายเป็นเอ็มบริโอ ส่วนเอนโดสเปิร์มจะกลายเป็นอาหารให้เอ็มบริโอใช้ในการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเอ็มบริโอ เกิดจากการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ แต่อัตราการแบ่งเซลล์ในแต่ละบริเวณจะไม่เท่ากัน จากนั้นเซลล์จะขยายขนาดเอ็มบริโอจึงเปลี่ยนแปลงรูปร่าง การเจริญเติบโตทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในออวูล ออวูลจึงมีการเจริญเติบโตกลายเป็นเมล็ด รังไข่เจริญไปเป็นผล

ส่วนประกอบของเมล็ด

     ส่วนประกอบของเมล็ดอาจแยกออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
         1. เปลือกหุ้มเมล็ด ( Seed coat หรือ Testa ) ทำหน้าที่ป้องกันส่วนที่อยู่ภายในโดยป้องกันอันตรายและป้องกันการคายน้ำ หากมีเปลือก 2 ชั้น ชั้นนอกจะหนาแข็งแรงและเหนียว ส่วนชั้นในเป็นชั้นบาง ๆ ซึ่งบางครั้งชั้นในไม่มีหากเห็นก้านยึดเมล็ดติดกับรังไข่เรียกก้านนี้ว่า ฟันนิคิวลัส ( Funiculus ) เมื่อเมล็ดหลุดออกจากก้านจะเห็นเป็นรอยแผลเป็นเล็กๆเรียกว่า ไฮลัม ( Hilum ) ถ้าบริเวณรอยแผลเป็นนั้นมีเนื้อเเข็งๆ ติดมาเนื้อนั้นเรียกว่า คารังเคิล ( Caruncle ) ถ้าก้านนี้ติดอยู่กับเปลือกของเมล็ดและเป็นสันขึ้นมาเรียกสันนั้นว่า ราฟี           ( Raphe ) สันนี้จะอยู่เหนือรูไมโครไพล์ ( Micropyle ) รูนี้เป็นทางให้หลอดละอองเรณู ( Pollen tube ) ผ่านเข้าไปก่อนเกิดการปฏิสนธิและเป็นทางให้รากอ่อน ( Radicle ) งอกออมาจากเมล็ด
         2. เอนโดสเปิร์ม ( Endosperm ) เป็นอาหารสะสมสำหรับเอ็มบริโอส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต มีโปรตีนและไขมันปะปนอยู่ด้วยพบในเมล็ดของพืชใบเลี้ยงคู่บางชนิด เช่น ละหุ่ง ซึ่งมีเอนโดสเปิร์มแข็ง ส่วนเมล็ดของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวบางชนิด เช่น มะพร้าว มีเอนโดสเปิร์มทั้งของแข็งและเหลวคือ เนื้อมะพร้าวและน้ำมะพร้าว ในเมล็ดถั่วเอนโดสเปิร์มจะรวมสะสมอยู่ในใบเลี้ยงจึงเห็นได้ว่าเมล็ดถั่วสามารถแกะแยกออกเป็น 2 ซีกได้โดยง่ายแต่ละซีกนั้น คือ ใบเลี้ยง
         3. เอ็มบริโอ ( Embryo ) คือส่วนที่จะเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ต่อไป ส่วนนี้ประกอบด้วยส่วนย่อย ๆ หลายส่วนคือ 
         1. ใบเลี้ยง ( Cotyledon ) ในพืชใบเลี้ยงคู่มี 2 ใบ และในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีเพียงใบเดียว ใบเลี้ยงนี้จะไม่ทำการสังเคราะห์ด้วยแสงและไม่เจริญเติบโตต่อไป
         2. เอพิคอทิล ( Epicoty ) ส่วนที่อยู่เหนือตำแหน่งใบเลี้ยง เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นพืชส่วนนี้จะกลายเป็นลำต้น ใบ และดอกของพืช
         3. ไฮโพคอทิล ( Hypocoty ) เป็นส่วนที่อยู่ใต้ตำแหน่งใบเลี้ยงลงมา เมื่อเจริญเติบโตต่อไปส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของลำต้น
         4. แรดิเคิล ( Radicle ) ส่วนนี้อยู่ถัดจากส่วนของลำต้น คือ อยู่ใต้ไฮโพคอทิลลงมา ต่อไปจะเจริญไปเป็นรากแก้ว ซึ่งในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีรากแก้วอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจะเป็นรากฝอย ซึ่งต่างจากพืชใบเลี้ยงคู่ที่มีรากแก้วอยู่ตลอด
          สำหรับในเมล็ดพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเมื่อผ่าดูจะพบเยื่อหุ้มแรดิเคิล  ( Coleorhiza ) กับเยื่อหุ้มเอพิคอทิล ( Coleoptil ) เป็นส่วนป้องกันอันตรายแก่ส่วนที่หุ้มเอาไว้ บางคนอธิบายว่าส่วนทั้งสองนี้คือ ส่วนของใบเลี้ยงอีกใบหนึ่งของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งตำแหน่งและหน้าที่รวมทั้งใบเลี้ยงอีกใบหนึ่งที่เหลือนั้นมักจะเรียกชื่อใหม่ว่า สคิวเตลลัม ( Scutellum )






































ที่มา:http://www.thaigoodview.com/library/contest2553/type2/science04/24/pages/index0a10.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น